top of page

IoT เมื่ออุปกรณ์ถูกสิงด้วยอินเตอร์เน็ต...

Updated: Sep 19, 2018


อินเตอร์เน็ต นอกจากอยู่ในมือถือ คอมพิวเตอร์ และแทปเล็ตแล้ว ปัจจุบัน อินเตอร์เน็ตยังฝังและเชื่อมต่อกันอยู่ในอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมาย เพื่อให้เรารู้การทำงาน และสามารถสั่งงานสิ่งเหล่านั้นผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งเราเรียกอุปกรณ์ต่างๆนี้ว่า IOT นั่นเอง



IOT คำนี้หลายๆคนคงได้ยินกันบ่อยมากขึ้นในช่วงนี้ คำนี้มันคืออะไร ย่อมาจากอะไร ใกล้ตัวเรามากแค่ไหน มาดูกัน

IOT ย่อมาจากคำว่า internet of Things บางคนเรียกว่า M2M คือ Machine to Machine คือการคุยกันของเครื่องจักรหรือว่าอุปกรณ์ 2 ชิ้นผ่านทางอินเตอร์เน็ตเป็นตัวเชื่อม คำว่า IOT ไม่ได้เพิ่งมีนะ แต่ว่าเริ่มมาตั้งแต่ปี 1999 ใน Project ของมหาวิทยาลัยเอ็มไอทีที่เขาทำเรื่องเกี่ยวกับ RFID Sensor ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถสื่อข้อมูลกันได้ ปัจจุบันมีอุปกรณ์อัจฉริยะ หรือ Smart Device อยู่มากมาย มาพร้อมกับเซนเซอร์ในตัวเพื่อตรวจจับว่ารอบๆ มีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เช่น เรื่องของแสงรุ้ง เรื่องของอุณหภูมิต่างๆ แต่คราวนี้เมื่อตัวมันมีเซนเซอร์ที่เป็นเหมือนปราสาทสัมผัสแล้วเนี่ย ทำยังไงให้มันสามารถติดต่อพูดคุยกับอุปกรณ์อื่นๆภายในบ้านหรือรอบๆตัวเราได้


คำตอบก็คือใช้อินเตอร์เน็ต คือการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเหมือนภาษากลางที่ทำให้ Smart Device หรือ Gadget แต่ละตัว สามารถพูดคุยกันได้เป็นภาษาเดียวกันรู้เรื่องหมด ไม่ว่าตู้เย็นจะไปคุยกับประตูหรือว่าหลอดไฟจะไปคุยกับไมค์ ผ่านภาษามาตรฐาน คราวนี้เมื่อมีภาษามาตรฐานมันก็สามารถส่งค่าต่างๆในเซ็นเซอร์ที่ Smart Device แต่ละตัวเก็บเอาไว้ไปให้อุปกรณ์อื่นๆและทำให้เกิดการประมวลผลข้อมูลร่วมกันจนเกิดเป็นการสั่งงานบางอย่างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกกับเรานี่แหล่ะ แบบนี้หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าคืออะไรกัน อุปกรณ์คุยกันเองนี่เหรอ อุปกรณ์ทำทุกอย่างได้





สมมุติว่าเราเนี่ยมีกล้องตัวหนึ่งที่สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องชงกาแฟที่เป็นแบบอุปกรณ์ IOT เหมือนกัน เวลาที่เราตื่นขึ้นมาเสร็จแล้วกล้องจะส่งข้อมูลตัวนี้ไปที่เครื่องชงกาแฟให้ทำการชงกาแฟให้อัตโนมัติ พอเราเดินลงมาถึงข้างล่างสามารถกินกาแฟดื่มได้ทันทีโดยไม่ต้องสั่งงานอะไรเลย

IOT อีกอย่างที่กำลังมาแรงคือ รถยนต์ไร้คนขับ อันนี้ก็เป็นอีกอุปกรณ์ของ IOT เป็นรถที่มีเซ็นเซอร์รอบคันเลยในการทำการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมว่ามีคนเดินมั้ย สภาพถนนเป็นยังไง เลนถนนอยู่ตรงไหน ก่อนที่จะนำข้อมูลพวกนี้มาช่วยคิดคำนวณในการขับตัวเองอย่างอัตโนมัติ ให้เราสามารถไปสู่จุดหมายได้ แต่ไม่ใช่แค่นั้น มันยังต้องทำงานผ่านอินเตอร์เน็ตเพื่อแชร์ข้อมูลให้กับรถยนต์ไร้คนขับคันอื่นๆ เพื่อจะได้รู้ว่าตรงไหนเกิดอุบัติเหตุ บริเวณไหนควรจะเลี่ยง


บางคนอาจยังคิดว่า อุปกรณ์พวกนี้ยังดูไกลตัวเราอยู่ แต่รู้หรือไม่ว่าตอนนี้ประเทศไทยเอง ก็เริ่มมีการเอาเทคโนโลยีของ Internet of Things เข้ามาใช้กันแล้ว แถมยังอยู่ใกล้ตัวพวกเรามากกว่าที่คิด

เป็นที่รู้กัน ว่าในอนาคตอันใกล้ สังคมผู้สูงวัยจะมีจำนวนมากขึ้น เราจะเห็นผู้สูงอายุที่ต้องอยู่บ้านคนเดียวกันมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในตำบลแสนสุข จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีประชากรราว 15 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นผู้สูงอายุ และไม่มีผู้ดูแลระหว่างวัน บางรายอาจมีอาการป่วยร่วมด้วย ซึ่งปัญหานี้ให้ก็เลยทำให้เป็นที่มาของโครงการ Smart Healthcare ที่ใช้ Internet of Things มาช่วยในการดูแลคนกลุ่มนี้ โดยให้มีการสวมใส่สายรัดข้อมืออัจฉริยะเอาไว้ เพื่อทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้สวมใส่ระหว่างวันไม่ว่าจะเป็นจำนวนก้าวที่เดิน รูปแบบของการนอนหลับ แล้วจากนี้ยังมีการตรวจสอบกิจกรรมที่ไม่ปกติ





ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดมีการลื่นล้ม จะทำการส่งสัญญาณไปที่โทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง และญาติของผู้สวมใส่โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ถ้าผู้สวมใส่เกิดต้องการความช่วยเหลือก็สามารถกดปุ่มที่ตัวสายรัดข้อมืออัจฉริยะ เพื่อขอความช่วยเหลือได้ทันที อันนี้ถือเป็นการผลักดันให้คุณภาพชีวิตของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นดีขึ้น


อีกตัวอย่างนึงของ IOT ตัวอย่างนี้อยู่ในใจกลางกรุงเทพ ที่กำลังมีการทดลองใช้งาน Smart Parking หรือที่จอดรถอัจฉริยะ เพื่อเป็นการนำเอาเทคโนโลยี internet of Things เข้ามาช่วยในการจอดรถ ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงแล้ว ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ ที่นี่มี Smart Parking Application ในมือถือ ทำให้สามารถรู้พิกัดของผู้ใช้งาน และสามารถบอกเราได้เลยว่ามีช่องจอดรถตรงไหนว่างอยู่บ้าง หรือถ้าเรายังมาไม่ถึงก็สามารถจองที่จอดรถได้ด้วย เมื่อรถเข้าจอดรถ อุปกรณ์ส่งสัญญาณที่ฝังไว้ในพื้นจะทำการส่งข้อมูลไปยัง Application เพื่ออัพเดทสถานะของช่องจอดให้ทันที นอกจากนี้เมื่อจอดรถแล้วเราไปทำธุระต่างๆ ตอนกลับมา Apps นี้ยังสามารถนำทางกลับมาที่รถได้ด้วย





นอกจากนี้เรายังใช้ Internet of Things ไปใช้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอีกด้วย ตัวอย่างเช่น DTac Smart Farmer ที่ใช้ IOT ช่วยให้เกษตรกรใช้แรงงานน้อยลง และยังช่วยทำให้ผลิตผลที่ได้ออกมามีมูลค่าสูงขึ้นอีกด้วย โดยใช้ระบบอินเตอร์เน็ต และระบบเซ็นเซอร์ มาใช้เพื่อตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปริมาณแสง และความชื้น เพื่อใช้ปัจจัยเหล่านี้ไปช่วยในการวางแผนการผลิต ซึ่งผลก็คือนอกจากจะใช้จำนวนคนในการทำงานลดลง เพราะสามารถสั่งการทำงานต่างๆ ผ่านทาง Smartphone อย่างเช่น การสั่งให้รดน้ำให้เหมาะสมในแต่ละช่วงสภาพอากาศ ถือเป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิต และเพิ่มคุณภาพของผลผลิตด้วย เพราะมีข้อมูลที่แม่นยำเป็นตัวช่วย


เห็นมั้ยว่า Internet of Things หรือ IOT ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลย และนอกจากนี้นักวิชาการยังคาดการณ์ด้วยนะว่าภายในปี 2020 จะมีอุปกรณ์ IOT มากถึง 3 หมื่นล้านชิ้น เพราะฉะนั้น เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกันกับสิ่งนี้ แน่นอนว่า IOT ทำให้ชีวิตเราสะดวกมากขึ้น แต่อีกมุมนึงเราก็ต้องมีการเลือกรับปรับใช้ด้วย แล้วก็ต้องมีการปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยี รวมถึงหลายๆคนที่ทำธุรกิจ หรือทำงานอยู่ คงต้องลองดูแล้วหล่ะว่าจะสามารถนำ IOT เข้ามาประยุกต์ใช้กับงานของเราได้บ้าง เพื่อให้เราเหนื่อยน้อยลง และงานออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น

784 views0 comments

Kommentare


bottom of page