top of page

ธนาคารญี่ปุ่น วิกฤติ

Updated: Mar 22, 2020

พนักงานหลายพันตำแหน่ง เสี่ยงตกงาน เมื่อบริษัท เทคโนโลยี สตาร์ทอัพ กำลังคุกคามธุรกิจแบงค์

จากเดิมที่ เราต้องไปธนาคาร ต้องไปกดบัตรคิว และเดินไปกรอกเอกสาร โดยมีเจ้าหน้าที่คอยสอบถาม ดูแล และเมื่อถึงคิวเราก็ค่อยๆเดินเข้าไปทำธุรกรรมกับเจ้าหน้าที่ บางครั้งก็เร็ว แต่หลายๆครั้งก็ต้องเข้าคิวกันนานพอควรทีเดียว


แต่ปัจจุบันเชื่อมีหลายๆท่านที่ ที่ไปสาขา แต่ไปเพื่อทำธุรกรรมผ่านเครื่อง ATM หรือ CDM อย่างเดียวโดยไม่ได้แวะทักทายเจ้าหน้าที่กันเลย และเริ่มมีหลายๆท่านที่แทบจะจำไม่ได้ว่า ครั้งสุดท้ายเราไปธนาคารเมื่อไหร่ โดยมีเจ้ามือถือเพื่อนยากที่แหละ ที่จัดการธุรกรรมส่วนใหญ่ให้


ล่าสุดธนาคารยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นทั้งสาม ที่ได้ประกาศแผนที่จะปิดสาขา และลดจำนวนพนักงานหลายพันคน ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียกว่า ช๊อกกับวัฒนธรรม การจ้างงานตลอดชีพของญี่ปุ่น พอควร แต่ก็มีหลายๆท่านที่ยังมองว่า อาจจะยังช้าไป ไม่ทันกระแสดิจิทัล ที่เราเรียกว่า Digital Disruption ซึ่งมาแรงและเร็วมาก ตอนนี้แทบจะเรียกว่า วิกฤติเงียบกำลังก่อตัวในวงการธนาคาร...


จากข้อมูลจากธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น Tokyo - Mitsubishi UFJ จำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการที่สาขาลดลงกว่า 40% ในขณะที่จำนวนคนใช้ ธนาคารออนไลน์ เพิ่มขึ้นกว่า 40% ใน 5 ปีที่ผ่านมา


ปัจจุบันธนาคาร เจอปัญหารุมเร้าหลายทาง ไม่ว่าจะเป็น ดอกเบี้ยที่ถูก และอัตราการเติบโตที่ต่ำลงเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันกับจำนวนลูกค้าที่ลดลงเรื่อยๆ โดยที่จำนวนสาขาแทบไม่ได้ลดลงเลย ซึ่งมีจำนวนกว่า 13,500 สาขา โดยจำนวนพนักงานแต่ละสาขามีเกือบ 30 คน ถ้าจะลดจำนวนสาขากันจริงๆ แสดงว่ามีหลายๆตำแหน่งที่จะต้องหายไป


มีหลายสำนักที่ทำนายกันไว้ว่า ธนาคารกำลังเจอมรสุมใหญ่ จากตัวเลขกำไรของ ห้าแบงค์ใหญ่ที่ลดลงกว่า 22% จากปีที่ผ่านมา ในขณะที่บริษัทญี่ปุ่นอื่นๆ มีผลประกอบการที่ดีขึ้น จากสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น


เมื่อตุลาคมทาง ไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund) ได้ประกาศรายชือธนาคารที่เข้าข่ายที่จะไม่สามารถจะทำกำไรได้ ซึ่งธนาคารยักษ์ใหญ่ทั้งสามของญี่ปุ่น คือ Mizuho, Mitsubishi UFJ and Sumitomo Mitsui ติดอยู่ในชื่อนั้นด้วย


แถมทางที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง KPMG ก็ออกมาทำนาย อีกว่าบริษัท เทคโนโลยีใหญ่ๆ จะมาแทนที่ในอุตสาหกรรมธนาคาร ในอนาคต และไม่เกินปี 2030 ธนาคารจะถูกลดระดับไปอยู่เบื้องหลัง โดยจะเน้นการคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การดำเนินการธุรกรรมหลังบ้านต่างๆ ที่เน้นการให้บริการโครงสร้งพื้นฐานแทน ที่สำคัญคือ สาขาจะหายไป พนักงานหลายๆตำแหน่งจะหายไป ซึ่งจะเป็นอะไร ที่ยากลำบาก ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้


ยิ่งไปกว่านั้น การมาของ มิสเตอร์ แจ็ค หม่า ได้ส่งหนึ่งในบริษัทในเครือของ อาลีบาบา กรุ๊ป ชื่อว่า แอนท์ ไฟแนนเชียล (Ant Financial) ที่ให้บริการรับชำระเงินผ่านมือถือ อาลี เพย์ (Ali Pay) ซึ่งเติบโตแบบซูปเปอร์ ก้าวกระโดด ทำให้ธนาคารในญี่ปุ่น ทำอะไรไม่ถูกทีเดียว เชื่อไหมว่า จากปี 2013 ที่ยังไม่มีใครรู้จัก การชำระเงินผ่านมือถือกันเลย แต่เพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น มูลค่าการชำระเงินผ่านมือถือโตไปถึง 30,000 ล้านเหรียญ เลยทีเดียว (ยอดนี้รวมกับมูลค่าการชำระเงินของ บริษัท เท็นเซ็น Tencent เข้าไปด้วย)


ทาง แอนท์ ไฟแนนเชียล ไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ ต่อไปจะมีการให้บริการทางการเงินอื่นๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็น เงินฝาก การลงทุน หรือ การให้สินเชื่อ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า แอนท์ ไฟแนนเชียล คือภัยที่คุกคามธุรกิจธนาคารญี่ปุ่นอย่างเห็นได้ชัด


คราวนี้มาดูกันว่า ธนาคารญี่ปุ่น กำลังพยายามทำอะไรกันบ้าง นาย Nobuyuki Hirano, ประธาน Mitsubishi UFJ Financial Group, ธนาคารใหญ่แห่งญี่ปุ่น ประกาศแผน ลดจำนวนตำแหน่งของกลุ่มบริษัทธนาคารพาณิชย์ลง 9,500 ตำแหน่ง ซึ่งมีพนักงานอยู่กว่า 40,000 คน ซึ่งจะให้แล้วเสร็จภายในปี 2023 ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับทุกๆคนเป็นอย่างมากเพราะ ที่นี่เป็นธนาคารที่ถือว่าเป็นธนาคารที่ดูดีที่สุดในญี่ปุ่นแล้ว ในแผนจะรวมการแปลง 100 สาขาจากทั้งหมด 516 สาขา ให้เป็นสาขาอัตโนมัติ ที่จะมีเครื่อง ATM และ เครื่องวีดีโอโฟน แทนบริการแบบเดิมๆ


ขณะเดียวกันคู่แข่งอย่าง Mizuho Financial Group ก็ไม่ยอมแพ้ ประกาศเมื่อเดือน พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่จะลด 19,000 ตำแหน่ง ใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมาจากการปิด 100 สาขา จาก 500 สาขา และสาขาที่เหลือจะถูกลดขนาดลง และมีพนักงานดูแลที่น้อยลง


โดยรวมๆ สามแบงค์ใหญ่ จะลดจำนวนพนักงานลงกว่า 32,000 ตำแหน่ง โดยตำแหน่งที่จะหายไปส่วนใหญ่จะเป็น พนักงานสาขา


แต่การลดจำนวนครั้งนี้ ทุกธนาคารบอกชัดว่าจะไม่เป็นการให้คนออก แต่เป็นการลดจาก จำนวนการลาออกตามปกติ แต่ละปี และการลดการจ้างงานเพิ่ม และจะมีการเพิ่มจำนวนตำแหน่งงานในส่วน Asset Management และ Digital Banking ให้มากขึ้นด้วย


ถ้าลองบินข้ามฟากไปดูกรณีธนาคารฝั่งอเมริกา และอังกฤษ กันบ้าง การปรับจะค่อนข้างรีบเร่งกว่า จากข้อมูล รอยเตอร์ ธนาคารที่อังกฤษได้ปิดสาขาเฉลี่ย 300 สาขาต่อปี ตั้งแต่ปี 1989 และได้เร่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ปี 2017 ที่ผ่านมาได้ลดเพิ่มถึง 762 สาขา ส่วนที่อเมริกา 12 เดือนนับถึงสิ้นมิถุนายน 2017 ลดไปแล้ว มากกว่า 1,700 สาขา


อีกหนึ่งสิ่งที่ทางธนาคารญี่ปุ่น พยายามทำนอกจากที่จะลดต้นทุน ก็คือพยายามจะขยายธุรกิจออกนอกประเทศ เข่นกรณีของ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ ได้เข้าซื้อหุ้น 72% ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ 20% ของ Security Bank of the Philippines, และประกาศในปี 2017 ที่จะเข้าซื้อหุ้น Bank Danamon Indonesia ทางธนาคารเชื่อว่าจะสามารถทำให้ธนาคารขยายฐานลูกค้าไปในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ชอบเทคโนโลยี ชอบมือถือ ได้อีกมาก


อีกด้านก็คือ ฝั่งพนักงานธนาคารเองก็เริ่มมีการเตรียมตัว ซึ่งจากข้อมูลด้านการสมัครงานพบว่ามีรายชื่อผู้สมัครที่มาจากธนาคารเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% และมีหลายคนได้ออกไปร่วมงานกับบริษัท สตาร์ทอัพ เช่นในกรณีของ Junichi Kanda เป็นผู้หนึ่งที่ลาออกจากธนาคาร ไปอยู่บริษัท สตาร์ทอัพ แม้ว่า เงินเดือนจะลดลง แต่เขาก็พร้อมที่จะเสี่ยงเพื่อผลตอบแทนในระยะยาว และเขาก็อยากให้คนอื่นๆลองทำตามแบบเขาและช่วยกันเปลี่ยนภาพของตลาดแรงงานในญี่ปุ่น การเข้าร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีจะทำให้ชาวธนาคารสามารถสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ หรือ นวัตกรรมใหม่ๆ ได้



ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://asia.nikkei.com/Spotlight/Cover-Story/Shrinking-to-survive-Japan-s-banks-face-a-quiet-crisis


Comments


bottom of page