top of page

ถอดรหัส อนาคตชาวแบงค์

Updated: Mar 22, 2020

มาเปิดความลับ อนาคตธนาคารไทย จากการถอดรหัส บทสัมภาษณ์ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กันครับ




รหัสที่ 1 เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เศรษฐกิจ และสังคม ตอนนี้เราอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแรง และเร็ว ธุรกิจหลายแห่งสามารถทำธุรกิจใหม่ๆที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักได้ โดยเฉพาะ ธุรกิจอื่นๆ สามารถมมาให้บริการทางการเงินได้


"เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ เร็วกว่าที่เราเคยเห็นในอดีตมากและเป็นเทคโนโลยีที่มีผลกับคนในวงกว้าง มีผลกับรูปแบบการทำธุรกิจ โดยเฉพาะในธุรกิจการเงิน รวมไปถึงธุรกิจอื่นๆ ด้วย"


"แต่ทุกวันนี้เราเห็นเทคโนโลยีที่เข้ามา มันเป็นแพลตฟอร์ม ไม่ได้เป็นคนที่มาขอใบอนุญาตตามประเภทของหน่วยงานของตัวเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นบริษัทโทรคมนาคมมาให้บริการชำระเงิน หรือแม้กระทั่งอีคอมเมิร์ซก็มาให้บริการชำระเงินได้ ซึ่ง ธปท. จะต้องกำกับดูแลในลักษณะที่เป็นตามประเภทกิจกรรมมากขึ้น ซึ่งจะมีความยากมากขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งตัวอย่างว่า เราจะต้องปรับตัวให้เท่าทันกับบริบทของการเปลี่ยนแปลง"


รหัสที่ 2 Cybersecurity สำคัญมากๆ บล็อกเชน ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้


"แต่มองไปใน 5 ปีข้างหน้า ใครจะทราบว่าเรื่องความปลอดภัยด้านไซเบอร์ หรือ cyber security อาจจะเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดของระบบการเงิน เป็นความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่เข้ามากระทบกับธนาคารบางแห่งแล้วจะลากยาวไปสู่ระบบการเงินทั้งหมดผ่านระบบการชำระเงินได้ อันนี้เป็นความเสี่ยงใหม่ที่ต้องมาดูว่าเราจะสร้างกฎเกณฑ์กติกากำกับดูแลอย่างไรเพื่อให้แน่ใจว่าเรามีกำแพงที่เท่าทันกับภัยต่างๆ ที่เข้ามาของไซเบอร์"


"ตัวบล็อกเชนเองมีศักยภาพสูงที่จะทำได้หลายอย่าง เรื่องการที่จะทำเป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือเงินคริปโต เป็นการประยุกต์ใช้อันเดียวเท่านั้นเอง บล็อกเชนทำงานหลังบ้านได้อีกมาก วันนี้เราได้ผ่านโครงการหนึ่งไป ที่ทำร่วมกับธนาคารพาณิชย์ คือเราจะพัฒนาระบบการออกพันธบัตรใหม่ ของเดิมเวลาที่เราเห็นพันธบัตรออมทรัพย์ที่เราขายให้กับประชาชน ใช้เวลาประมาณ 15 วันกว่าคนที่ซื้อจะได้พันธบัตรเข้าบัญชีของตัวเอง เพราะมีระบบหลายระบบเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระบบของสำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ระบบของ ธปท. ระบบของธนาคารพาณิชย์ ระบบของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ซึ่งพวกนี้มีขั้นตอนซ้ำไปซ้ำมาและใช้เวลาค่อนข้างมาก พอเรามาออกแบบใหม่ร่วมกันโดยใช้บล็อกเชนจะใช้เวลาไม่เกิน 2 วัน แล้วต่อไปจะขยายไปสู่พันธบัตรอื่นๆ ได้ด้วย รวมทั้งหุ้นกู้ของเอกชนด้วย"


รหัสที่ 3 Digital Economy สำหรับ พลเมืองดิจิทัล เกิดขึ้นแล้ว


"ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ เรื่องการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ digital economy เงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องมีระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพสูง เอื้อต่อการทำธุรกรรมดิจิทัล มีต้นทุนต่ำ มีค่าธรรมเนียมต่ำ และประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย จึงเป็นที่มาของระบบพร้อมเพย์ ซึ่งกระทรวงการคลัง สมาคมธนาคาร และ ธปท. ได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น เป็นระบบที่เปิดกว้างให้ใครก็สามารถมาทำบริการต่อยอดได้ ก็ถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างเร็วในช่วงที่ผ่านมา"


รหัสที่ 4 ทุกๆคน ต้องปรับตัวเพื่อเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ พร้อมเรียนรู้ กล้าทดลอง กล้าผิด และที่ขาดไม่ได้ คือมีทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยี ดิจิทัล ซึ่งจะทำให้งานที่เคยทำ 2 เดือน จะเหลือเพียงไม่กี่นาที


"ตัวชี้วัดเศรษฐกิจบางตัวที่เราเคยใช้ ไปทำแบบสำรวจ 2 เดือนกว่าจะรู้ ทุกวันนี้เราใช้ Google Trend ไปจับข้อมูลที่กระจายอยู่ทั่วไป เราได้ข้อมูลภายในไม่กี่นาทีและพอเอามาเทียบเคียงทดสอบย้อนหลังมันไปด้วยกันเลย มีความสัมพันธ์กันดีมาก เราไม่จำเป็นต้องทำแบบเดิม แต่เราสามารถจับชีพจรได้เร็วกว่ามาก"


จากรหัสต่างๆที่ ท่านผู้ว่าแอบบอกพวกเรามา ชาวแบงค์ เห็นทีจะอยู่เฉยไม่ได้แล้ว คงต้องหาทักษะใหม่ๆเพิ่มติดตัว โดยเฉพาะเรื่องของ ดาต้า การใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทั้งความเข้าใจในเรื่องความปลอดภัยในโลกออนไลน์ โลกดิจิทัล


มาร่วมกันเป็น พลเมืองดี ที่มี ชีวิตดีๆ การงานดีๆ อยู่อย่างมีความสุข และปลอดภัยในโลกดิจิทัลกันครับ


อ่านบทสัมภาษณ์แบบเต็มๆกันได้ที่ https://thaipublica.org/2018/09/veerathai-the-future-of-central-banking/

4,091 views0 comments

Comments


bottom of page